December 17, 2007

I AM LEGEND

I Am Legend หนังฟอร์มยักษ์ท้ายปีที่หลายคนต่างตั้งตารอคอย จากตัวอย่างหนัง
ที่ปล่อยออกมา เราก็สามารถคาดเดาได้ไม่ยากว่านี่จะต้องเป็น หนัง action ผีดิบอย่าง
แน่นอน แต่ความรู้สึกแรกหลังจากที่ก้าวออกมาจากโรงหนัง ฉันกลับคิดว่าเพิ่งได้ดูหนัง
แนว drama (ปน sci-fi นิด ๆ) ต้องยอมรับเลยว่าผู้เขียนบทคิดธีมเรื่องได้ดีมาก (ฉันอาจจะต้องหาหนังสือมาอ่านซะแล้ว)
ส่วนตัวของหนังก็ทำออกไม่ได้ค่อนข้างดี ที่ฉันประทับใจมากก็เห็นจะเป็นรายละเอียดต่าง ๆ
โดยเฉพาะสัญลักษณ์ที่ผู้เขียนเลือกใช้ดี
การวิเคราะห์ต่อไปนี้เป็นความคิดเห็นของฉันเพียงคนเดียว ดังนั้นจะยินดีมากหากมีความคิดเห็นมุมอื่นเสนอแนะ

ประเด็นหลัก ๆ ของเรื่องเห็นจะเป็นเรื่องของความเชื่อ ความศรัทธาในพระเจ้าของชาวคริสต์ ตัวเอกของเรื่อง Robert Neville มีพัฒนาการในด้านนี้อย่างเด่นชัด จากคนที่ไม่มีศรัทธาเลยกระทั่งเปลี่ยนมาเป็นคนที่มีศรัทธาในตอนท้าย “ผีเสื้อ” สัญลักษณ์สำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวในเรื่องอยู่เป็นระยะ ๆ มีความหมายถึง ความศรัทธา การเปลี่ยนร่าง (transformation) รวมถึงการให้กำเนิด (rebirth)

ในความหมายของศรัทธา ที่ฉันกล่าวว่า Neville ในตอนแรกนั้นไม่มีศรัทธาในพระเจ้า เห็นได้จากตอนที่ลูกสาวของเขาพยายามบอกให้ดูผีเสื้อ นอกจากจะไม่สนใจแล้วเขายังสั่งให้เงียบอีกด้วย เป็นการกระทำที่แสดงออกถึงอาการไม่ยอมรับในศรัทธา เพราะฉะนั้น Neville จึงเปรียบเสมือนตัวแทนของกลุ่มคนที่นับถือศาสนาคริสต์หากแต่ไม่ศรัทธาในพระเจ้า คนกลุ่มนี้เสมือนเป็นคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างกลุ่มคนที่เป็นคริสเตียนที่เคร่งมาก ๆ และกลุ่มที่ต่อต้านคริสต์ศาสนาซึ่งถูกถ่ายทอดออกมาเป็นพวกผีดิบ Dark Seekers นอกจากนี้ประเด็นในเรื่องของศรัทธาต่อพระเจ้ายังได้ถูกเน้นย้ำชัด ๆ อีกครั้งในฉากที่พระเอกไล่ล่ากวาง ซึ่งหากสังเกตฉากนี้จะมีแผ่นประกาศติดอยู่บนผนังตึกมีใจความเกี่ยวกับข้อสงสัยในอำนาจของพระเจ้าอีกด้วย

พวก Dark Seekers ก็เป็นอีกสัญลักณ์หนึ่งที่ผู้เขียนเลือกใช้ได้อย่างชาญฉลาด คำว่า Dark บ่งบอกถึงความชั่วร้าย ซึ่งพวก Dark Seekers ก็ไม่สามารถสู้แสงแดดได้ เป็นการเน้นย้ำลงไปอีกในประเด็นของ dark กับ light ซึ่งมีความหมายในทางตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง สิ่งที่ชั่วร้ายก็มันจะไม่กล้าสู้บแสงแห่งความดี

ในความหมายของ transformation หรือการเปลี่ยนร่าง ฉันไม่ได้มองว่าเป็นการเปลี่ยนในแง่กายภาพ แต่การเปลี่ยนนี้เป็นการเปลี่ยนจากคนที่ไม่มีแม้ศรัทธาในพระเจ้ากลายมาเป็นคนที่ศรัทธาในท้ายที่สุด จากตอนต้นเรื่องที่ Neville ไม่รับฟังลูกสาวเกี่ยวกับผีเสื้อ กระทั่งจุดที่ศรัทธาเริ่มก่อกำเนิดขึ้นในใจเขาเมื่อพบกับหญิงสาวที่มีรอยสักรูปผีเสื้อที่ต้นคอ เพราะไม่เพียงแต่หญิงผู้นี้มีศรัทธาในพระเจ้าอย่างมากเท่านั้น เธอยังเป็นผู้ที่นำมาซึ่งศรัทธาในกับตัวละครเอกของเราอีกด้วย แต่ที่ฉันประทับใจมากที่สุดกับการเล่นความหมายนี้ก็คือ ในช่วง climax ของเรื่องเมื่อ Neville ตระหนักได้ถึงศรัทธาที่เขาได้ปิดกั้นมาเป็นเวลานานได้ถูกจุดประกายขึ้น แล้วภาพได้ถูกตัดออกมาเป็นมุมที่เราเห็น Neville จากด้านนอกประตูกระจกที่ร้าวไปทั้งบานนั้น มันเป็นรูปของปีกผีเสื้อที่กางออกอย่างสวยงามโดยที่มี Neville ยืนอยู่ระหว่างปีกทั้งสองข้างนั้นดุจเหมือนเข้าเป็นดักแด้ที่เพิ่งฟักออกมาเป็นผีเสื้อ...นี่ก็คือความหมายของ Transformation ที่แฝงอยู่ในสัญลัษณ์ผีเสื้อ

ส่วนความหมายสุดท้าย rebirth หรือ การให้กำเนิด เห็นได้จากตัวละครที่เกี่ยวของกับสัญลักษณ์ผีเสื้อทุกตัวเป็นตัวละครที่มีเพศหญิง ซึ่งมีนัยถึงการให้กำเนิด ดังนั้นจึงไม่ใช่ความบังเอิญที่หญิงสาวซึ่งมีรอยสักรูปผีเสื้อและลูกของ Neville ต้องเป็นผู้หญิง (แม้กระทั่งสุนัขคู่ใจของพระเอก Samanthaก็ยังเป็นเพศเมีย) เพราะเพศหญิงเป็นเพศที่ให้กำเนิดชีวิตนั่นเอง ที่ชัดเจนที่สุดก็เห็นจะเป็นตอนที่หญิงสาวคนนี้มาช่วยชีวิตพระเอกจากฝูง Dark Seekers ได้ทันท่วงทีโดยสาดไปเข้าใส่พวกมัน เพราะภาพที่ถ่ายทอดออกมาเป็นเหมือนกับตอนที่ทารกได้โผล่พ้นออกมาจากครรภ์มารดาแล้วเจอกับแสงอันสว่างจ้า

จากทั้งหมดที่ฉันสามารถเก็บได้จากหนังเรื่องนี้ ยิ่งทำให้ฉันอยากอ่านมันในเวอร์ชั่นหนังสือมากขึ้นไปอีก เพราะฉันไม่แน่ใจว่าจะต้องชื่นชมใครมากกว่ากันระหว่างคนเขียนกับผู้กำกับ เพราะรายละเอียดในแง่มุมเหล่านี้ได้ถูกซ่อนไว้อย่างแนบเนียนในหนังที่ไม่มีคาดคิดว่าจะสามารถนำมาถ่ายทอดประเด็นเกี่ยวกับศาสนาได้ โดยรวมแล้วฉันให้คะแนนหนังเรื่องนี้ 8.5 จาก 10 เพราะติดกับตอนจบที่ฉันคิดว่ามันยังรู้สึดขัด ๆ อีกนิดหน่อย